ย้อนไปเมื่อปลายเดือนมกราคมปีพ.ศ.2558 ที่ประเทศฮ่องกง ผมไปเข้าร่วมสัมมนาหนึ่งและบังเอิญโชคดีได้ชมภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อว่า ‘THE HUMAN SCALE’ มันเป็นสารคดีที่มีความยาวไม่มากนัก แต่ก็นานพอที่ทำให้คนจากประเทศโลกที่สามอย่างผมและเพื่อนหัวใจเต้นแรงตลอด 1 ชั่วโมง 23 นาที และใครจะไปรู้ว่ามันจะกลายมาเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ทำให้วิศวกรโรงงานอย่างผม ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาเดินหน้าทำงานเรื่อง ‘การพัฒนาเมือง’ อย่างจริงจังมาก ๆ หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา
เนื้อหาของภาพยนตร์พูดถึงเรื่องการพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง และความท้าทายในอนาคตที่คนจะเข้ามาอยู่อาศัยกันในเมืองกันมากขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือการหยิบกรณีตัวอย่างจากหลากหลายประเทศมาเปรียบเทียบแนวคิดก่อนและหลังปรับปรุงอย่างเห็นภาพ เช่น ไทม์สแควร์แห่งนครนิวยอร์ค สถานที่ซึ่งก่อนหน้านี้มีรถติดหนาแน่นมาก เพราะถูกพัฒนาด้วยแนวคิดแบบหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนไปใช้แนวคิดแบบ HUMAN SCALE ในการพัฒนาเมือง ไทม์สแควร์ก็กลายเป็นจุดที่ผู้คนมาทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหนาแน่นมากขึ้น จากที่ของรถ กลายเป็นที่ของคน นิวยอร์กกลายเป็นเมืองของผู้คน ที่มีชีวิตชีวาขึ้นแบบก้าวกระโดดไปเสียอย่างนั้น
Time Square, New York
ผมยังจำความรู้สึกตอนดูสารคดีได้ดี เพราะ…
ยิ่งดู ก็ยิ่งขนลุก
ยิ่งดู ก็ยิ่งสนใจ
และยิ่งดูก็ยิ่งอยากให้กรุงเทพฯ ของเรา มีวันที่ดีขึ้นแบบนั้นกับเขาบ้าง…
Jan Gehl ผู้เริ่มต้นแนวคิดออกแบบเมืองโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง
คนจะล้นเมือง เมืองพร้อมหรือยัง?
สารคดีชวนให้เห็นภัยคุกคามในอนาคตที่น่าสนใจ
ประการแรก หลายคนชอบคิดว่าปัญหาใหญ่ของสังคม เช่น ปัญหาการศึกษา ความยากจน อาชญากรรม สิ่งแวดล้อม จราจร สุขภาพ เกิดจากนโยบายการเมืองที่ไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เป็นนโยบายที่เอื้อต่อระบบทุน หรือเกิดจากระบบโครงสร้างของรัฐเองที่เป็นปัญหาแบบงูกินหาง
…ซึ่งใช่ครับ
ต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ มาจากภาครัฐก็จริง แต่ต้นเหตุสำคัญที่สร้างปัญหาเหล่านี้ให้ร้ายแรงขึ้นได้ไม่แพ้กันก็คือประชาชนเรากันเองนี่แหละ เพราะภัยคุกคามที่สารคดีพยายามสื่อสารก็คือ จำนวนผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เมืองยังไม่พร้อมรองรับ
เมื่อเมืองไม่พร้อมแต่คนเพิ่มขึ้นมาก ย่อมเกิดปัญหามากมายอย่างไม่ต้องสงสัย
สารคดีชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญข้อหนึ่งว่า ในปัจจุบันเรามีประชากร 50% ของประชากรทั้งโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองแล้ว และภายในปีค.ศ. 2050 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 80% เลยทีเดียว ซึ่งหากเราลองนึกภาพตาม การที่จู่ ๆ คนจำนวนมากขึ้นขนาดนั้น อะไรจะต้องเปลี่ยนตามไปบ้าง ชุมชนต้องกลายสภาพเป็นมหานครเมืองใหญ่ หรือการที่คนต่างจังหวัดทยอยย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองจำนวนมากพร้อม ๆ กัน นักธุรกิจเข้ามาเปิดธุรกิจห้างร้านเพื่อรองรับปริมาณคนและเศรษฐกิจที่โตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงผังเมืองโดยรวม โรงพยาบาลจะมีรองรับเพียงพอมั้ย โรงเรียนและคุณครูมีเพียงพอที่จะรับคนเพิ่มได้มั้ย หรือ พื้นที่ใช้สอยในเมืองมีเพียงพอรองรับคนจำนวนมากขนาดนั้นแล้วหรือยัง จะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองคือปัญหาสำคัญที่เป็นรากของปัญหาอื่น ๆ ตามมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่อยู่อาศัย ปากท้องความยากจน เพราะสุดท้ายแล้วมันคือเรื่องของ “คุณภาพชีวิต” ของคนในเมืองนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HUMAN SCALE